ไปเจอข้อมูลมาว่ามีหนังสือกล้วยไม้เมืองไทยชื่อ "A FIELD GUIDE TO THE Wild Orchids of Thailand" ฉบับ Fourth and Expanded Edition ของผู้แต่ง Nantiya Vaddhanaphuti เห็นว่ามีข้อมูลชนิดพันธุ์อยู่มาก อาการอยากเห็นกำเริบอีก ไม่รู้จะดีใจหรือเสียใจดี ดีใจคือว่าพอไม่ได้หมกมุ่นกับเรื่องของต้นไม้ก็คิดว่าสงสัยเราชักจะไกลธรรมชาติซะละ แต่พออาการกำเริบเลยโล่งใจว่ายังมีใจรักอยู่เหมือนเดิม ส่วนเสียใจคือว่าสงสัยได้เสียเงินอีกละ ซึ่งก็แน่ล่ะ ตามหามาจนได้ ถึงจะไม่มีเวลาแต่โลกของเทคโนโลยีเดี๋ยวนี้ ช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้เราเยอะ หาชื่อหนังสือก็ในคอมพิวเตอร์ สั่งซื้อก็ในนั้น สองสามวันก็ได้มาจากศูนย์หนังสือจุฬาฯ มาส่งถึงที่ ราคาพอประมาณ พอได้มาเปิดๆ ดู ก็มีหลายร้อยชนิดให้ดูให้ไม่ต้องเสียดายเงินในกระเป๋านัก ลองเทียบๆ ดู อยู่นานสองนาน เพราะบางทีก็เทียบลำบากหากไม่เห็นต้นใบชัดเจนจริงๆ บางทีภาพของเราก็ไม่ชัด บางทีรายละเอียดภาพในหนังสือก็ไม่ครบในส่วนของต้นใบ แต่ก็ช่วยได้มากจากหลายๆ ชนิดที่มีอยู่ในหนังสือ แต่ก็ยังไม่มั่นใจนักว่าตัวเองเทียบถูกต้อง เพราะนอกจากจะพิการสายตาทางสีแล้ว ยังตาถั่วอยู่บ่อยๆ ด้วย พอเทียบๆ เสร็จก็เลยเอามารวบรวมไว้ก่อนซะเลยว่าชุดนี้นะจะต้องทำข้อมูลสรุปอีกที

ดอกนี้ก่อนหน้านี้ทราบจากคนขายมาว่าชื่อ "ช้างพราหมณ์" นำมาเลี้ยงจนออกดอก ข้อมูลในหนังสือไม่มีชื่อไทย แถมมีภาพดอกที่ใกล้เคียงกันด้วย จึงยังไม่ฟันธงนักว่าจะใช่ชนิดเดียวกัน ในหนังสือมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า
"
Pholidota bracteata (D. Don) Seidenf."

ดอกนี้ก็ฝีมือการปลูกของตัวเอง รู้มาจากคนขายว่าชื่อ "เพชรพระอินทร์" ในหนังสือมีชื่อวิทยาศาสตร์ แต่ยังไม่มีชื่อไทย ไปโพสต์ถามที่ห้องกล้วยไม้พันทิพย์ก็มีผู้รู้ใจดีช่วยบอกมาว่าชื่อ "เพชรพระอินทร์ลาว" เอาล่ะสิชักอยากเห็นของไทยมั่งละ เก็บความสงสัยไว้ก่อน ค่อยตามหาต่อไป ชื่อวิทยาศาสตร์เขาคือ "
Trias disciflora (Rolfe) Rolfe" เห็นชื่อแล้วก็นึกได้ว่ามีกล้วยไม้ที่มีลักษณะดอกเป็นสามเหลี่ยมตามกลีบดอกสามกลีบอยู่เยอะเหมือนกัน ที่เป็นตระกูลเดียวกัน

ได้ข้อมูลมาครั้งแรกเลยบอกว่าต้นนี้ชื่อ "สิงโตขาเขียด" ดูไปก็คล้ายๆ เนอะ ขายาวเรียวผอมๆ แต่ไปเจอข้อมูลบางที่เขาเรียกว่า "สิงโตดาว" ดูไปก็คล้ายอีกนั่นแหละ ในหนังสือมีแต่ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า "
Bulbophyllum laxiflorum (Blume) Lindl." ต้นนี้ใจดีและน่ารักออกดอกอยู่เสมอ ต้นเล็กๆ ดอกเล็กๆ

ต้นนี้ข้อมูลคงไม่พลาด "ข้าวตอกปราจีณ" ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า "
Dendrobium oligophyllum Gagnep." แต่สงสัยว่าชื่อเนี่ยจะ "น" หรือ "ณ" หนอ เพราะก่อนหน้านั้นตัวเองสะกดชื่อว่า "ข้าวตอกปราจีน" คงนึกถึงแต่ปราจีนบุรี คงต้องหาคำตอบต่อไป ชื่อข้าวตอกก็สมกับเป็นข้าวตอกจริงๆ ต้นเล็กๆ ออกดอกเยอะยังกะยุงชุม

ต้นนี้ตอนมาถามคนขาย เขาบอกว่าชื่อ "ข้าวตอกมาเล" ดอกดูคล้ายข้าวตอกปราจีน แต่ต้นใหญ่กว่า ในหนังสือไม่มีชื่อไทย แต่ดูแล้วคล้ายที่สุด และเดาเอาว่าจากชื่อที่คนขาย (ที่เราพอจะเชื่อได้) บอก ถิ่นของขาก็น่าจะมาจากทางใต้ ในหนังสือดอกที่คล้ายต้นนี้ก็บอกว่ามีถิ่นที่พบอยู่ทางใต้ คงใช่แหละมัง หากใช่ชนิดเดียวกันชื่อวิทยาศาสตร์ก็คือ "
Dendrobium trinervium Ridl."

ต้นนี้ปลูกเองคงเป็นสิงโตสักตัว แต่ไม่รู้ตัวไหน ดูเหมือนสิงโตรวงข้าว เทียบในหนังสือจนตาลายเพราะที่คล้ายกันก็มี มีตัวหนึ่งที่ใกล้เคียง ถ้าใช่ตัวเดียวกันก็มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า "
Bulbophyllum crassipes Hk. f." ส่วนชื่อไทยยังจนใจ

ดอกนี้เล็กๆ น่ารัก เก็บภาพมาจากตอนไปเดินป่าที่เขาใหญ่ กล้วยไม้ดอกเล็กๆ แนวนี้มีเยอะมาก แยกความต่างลำบาก ในหนังสือที่ใกล้เคียงสุดเห็นจะเป็นชื่อ "
Malleola dentifera J.J. Sm."

ต้นนี้ยังไม่รู้ชื่อไทย ในหนังสือรุปลักษณ์ที่ตรงที่สุดก็มีแต่ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า "
Eria concolor Par. & Rchb. f." ชอบสีของเขามาก เห็นดอกเล็กๆ แบบนี้บานอยู่หลายวันเหมือนกัน
ยังเหลือในกรุอยู่อีกบ้างที่ต้องหาข้อมูล แต่พักยกไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน