23 ต.ค. 2548

ดอกไม้ริมทาง ในวันที่รู้สึกอบอุ่นสบาย



วันนี้ตื่นเช้ามารู้สึกสัมผัสกับสายลมหนาว รู้สึกอบอุ่นสบายภายใต้ผ้าห่มอย่างบอกไม่ถูก หรือเป็นเพราะมีความรู้สึกอบอุ่นบางอย่างซุกซ่อนอยู่ในใจ อากาศดีๆ อย่างนี้ชวนให้นึกอยากออกไปเดินเล่นรับเอาอากาศบริสุทธิ์ให้เต็มปอด ที่โล่งๆ หลังบ้านที่ไร้สิ่งปลูกสร้างนอกจากบ้านผู้คนที่อยู่ห่างออกไปดูจะเหมาะที่สุด พอคิดจะไปที่ไรก็ไม่ลืมนึกถึงดอกไม้ริมทาง นานแล้วที่ไม่ได้เดินเอ้อระเหยชมความน่ารักของดอกไม้เล็กๆ ที่เบิกบานตามธรรมชาติเลย



เพิ่งสังเกตว่าช่วงนี้ดอกข้าวสารกำลังบานสะพรั่ง เมื่อปีก่อนเห็นร่ำๆ จะถ่ายภาพเก็บไว้ ผลัดไปผลัดมาดอกหายหมดแล้ว ปีนี้ได้โอกาสเสียที ชอบสีขาวของดอกข้าวสารมากๆ เพราะสีขาวตุ่่นๆ นวลๆ เหมือนสีงาช้างหรือสีของข้าวสารข้าวเหนียว เวลาช่วงออกดอกจะเห็นข้าวสารบานสะพรั่งไปหมด ต้นจะทอดเลื้อยไปตามต้นต่างๆ เลยดูเหมือนทุกต้นจะมีดอกสีขาว



ผักเสี้ยนสีม่วง เป็นดอกไม้ริมทางที่น่ารัก ไปที่ไหนก็เจอ เคยได้ยินคนที่ชอบถ่ายรูปดอกไม้พูดกันว่า ดอกผักเสี้ยนสีม่วงเนี่ยเป็นโจทย์ที่ดีของคนที่จะหัดถ่ายภาพ เพราะสีเขาสวย หน้าตาน่ารัก และที่สำคัญเป็นดอกเล็ก หากถ่ายให้ชัดและสวยได้ ถือว่าฝีมือพอไปวัดไปวา ฉันก็อยากจะหัดเหมือนกัน แต่ความขี้เกียจถึงเวลาก็ถ่ายเอาตามความเคยชินเดิมๆ


ทุกครั้งที่ไปเดินจะต้องแวะชมทุ่งดอกบาหยาเสมอ ชอบในสีสันและความน่ารัก จำได้ว่าเพราะความน่ารักของดอกบาหยาที่เห็นในครั้งแรกทำให้หันมามองดอกไม้ริมทาง เคยคิดจะเอากลับไปปลูกที่บ้าน แต่สุดท้ายก็คิดได้ว่าในเมื่อวันไหนๆ เราก็เดินมาชมทุ่งดอกบาหยาได้ และเราเอาไปปลูกอย่างไรก็ไม่สวยเท่าที่ขึ้นตามธรรมชาตินี้ เลยตัดใจไม่คิดจะครอบครอง และแวะชมทุกครั้งที่เดินผ่าน


แปลกนะ! หญ้าตีนตุ๊กแกเป็นต้นที่พบเห็นอยู่ทั่วไป ดูดาดดื่นจนไร้ค่า แต่ในบางเวลาที่เราอยากพิจารณาความดาดดื่นนี้ด้วยความใส่ใจเป็นพิเศษ จะเห็นความงามความน่ารักที่เราชอบมองข้าม และหากมองให้เห็นถึงความงามในวิถีธรรมชาติ จะเห็นว่าตีนตุ๊กแกเป็นต้นที่ผีเสื้อให้ความสนใจเป็นพิเศษ ฉันสังเกตหลายทีจะเห็นผีเสื้อหลายๆ ตัวเฝ้าบินวนตอมดอกนั้นดอกนี้ ทำให้ดูมีชิตชีวาอยู่มาก


อีกหนึ่งความน่ารักคือกระดุมทองเลื้อย ฉันชอบสีเขียมเข้มเป็นมันของใบตัดกับสีสดใสของดอก หากสังเกตจะเห็นว่าตามริมคลองต่างๆ ที่ขุดเพื่อจัดแต่งเป็นสวนน้ำ จะมีการปลูกต้นกระดุมทองเลื้อยคลุมไปรอบริมตลิ่ง ทั้งนี้เพื่อยึดหน้าดินไม่ให้พังทลายลง นอกจากนี้กระดุมทองเลื้อยก็พบได้อยู่ทั่วไป เพราะต้นกระจายพันธุ์เร็วมาก ดูรวมๆ แล้วสวยเขียวสดชื่น


ปกติไม่ใช่คนที่ชอบสีม่วง แต่กลับรู้สึกว่าสีม่วงของดอกไม้นั้นสวย นอกจากม่วงเข้มของช้องนาง ม่วงเข้มของอัญชัญก็สวยมากในความรู้สึก ที่ทุ่งโลกหลังบ้านนี้มีม่วงเข้มของอัญชัญบานสะพรั่งอยู่ทั่ว เคยสงสัยว่าดอกไม้บางชนิดที่บานอยู่ตลอดปีออกดอกอย่างไรหนอ เดินผ่านต้นอัญชัญทีไรถึงเห็นม่วงเข้มของดอกบานอยู่เต็มต้นทุกครั้ง



เก็บบันทึกดอกไม้ริมทางน่ารักดอกสุดท้าย "เถาสะอึก" ดอกไม้ป่าริมทางเป็นเถาเลื้อยสีเหลือง ยามบานสะพรั่งน่ารักอย่าบอกใคร เห็นเถาสะอึกแบบนี้เกิดคำถามกับตัวเอง ว่าทำไมแต่ก่อนไม่เคยเห็นเถาสะอึก ทั้งที่เดี๋ยวนี้เห็นเถาสะอึกตามข้างทางทั่วไปอยู่บ่อยๆ ? คำตอบคงไม่พ้นว่าเพราะแต่ก่อนไม่เคยสังเกต ถึงตอนนี้ก็เลยรู้สึกว่าดีจังเลยที่ได้รู้จักความน่ารักของเถาสะอึก

20 ต.ค. 2548

ตามหานามกล้วยไม้

ไปเจอข้อมูลมาว่ามีหนังสือกล้วยไม้เมืองไทยชื่อ "A FIELD GUIDE TO THE Wild Orchids of Thailand" ฉบับ Fourth and Expanded Edition ของผู้แต่ง Nantiya Vaddhanaphuti เห็นว่ามีข้อมูลชนิดพันธุ์อยู่มาก อาการอยากเห็นกำเริบอีก ไม่รู้จะดีใจหรือเสียใจดี ดีใจคือว่าพอไม่ได้หมกมุ่นกับเรื่องของต้นไม้ก็คิดว่าสงสัยเราชักจะไกลธรรมชาติซะละ แต่พออาการกำเริบเลยโล่งใจว่ายังมีใจรักอยู่เหมือนเดิม ส่วนเสียใจคือว่าสงสัยได้เสียเงินอีกละ ซึ่งก็แน่ล่ะ ตามหามาจนได้ ถึงจะไม่มีเวลาแต่โลกของเทคโนโลยีเดี๋ยวนี้ ช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้เราเยอะ หาชื่อหนังสือก็ในคอมพิวเตอร์ สั่งซื้อก็ในนั้น สองสามวันก็ได้มาจากศูนย์หนังสือจุฬาฯ มาส่งถึงที่ ราคาพอประมาณ พอได้มาเปิดๆ ดู ก็มีหลายร้อยชนิดให้ดูให้ไม่ต้องเสียดายเงินในกระเป๋านัก ลองเทียบๆ ดู อยู่นานสองนาน เพราะบางทีก็เทียบลำบากหากไม่เห็นต้นใบชัดเจนจริงๆ บางทีภาพของเราก็ไม่ชัด บางทีรายละเอียดภาพในหนังสือก็ไม่ครบในส่วนของต้นใบ แต่ก็ช่วยได้มากจากหลายๆ ชนิดที่มีอยู่ในหนังสือ แต่ก็ยังไม่มั่นใจนักว่าตัวเองเทียบถูกต้อง เพราะนอกจากจะพิการสายตาทางสีแล้ว ยังตาถั่วอยู่บ่อยๆ ด้วย พอเทียบๆ เสร็จก็เลยเอามารวบรวมไว้ก่อนซะเลยว่าชุดนี้นะจะต้องทำข้อมูลสรุปอีกที


ดอกนี้ก่อนหน้านี้ทราบจากคนขายมาว่าชื่อ "ช้างพราหมณ์" นำมาเลี้ยงจนออกดอก ข้อมูลในหนังสือไม่มีชื่อไทย แถมมีภาพดอกที่ใกล้เคียงกันด้วย จึงยังไม่ฟันธงนักว่าจะใช่ชนิดเดียวกัน ในหนังสือมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า
"Pholidota bracteata (D. Don) Seidenf."


ดอกนี้ก็ฝีมือการปลูกของตัวเอง รู้มาจากคนขายว่าชื่อ "เพชรพระอินทร์" ในหนังสือมีชื่อวิทยาศาสตร์ แต่ยังไม่มีชื่อไทย ไปโพสต์ถามที่ห้องกล้วยไม้พันทิพย์ก็มีผู้รู้ใจดีช่วยบอกมาว่าชื่อ "เพชรพระอินทร์ลาว" เอาล่ะสิชักอยากเห็นของไทยมั่งละ เก็บความสงสัยไว้ก่อน ค่อยตามหาต่อไป ชื่อวิทยาศาสตร์เขาคือ "Trias disciflora (Rolfe) Rolfe" เห็นชื่อแล้วก็นึกได้ว่ามีกล้วยไม้ที่มีลักษณะดอกเป็นสามเหลี่ยมตามกลีบดอกสามกลีบอยู่เยอะเหมือนกัน ที่เป็นตระกูลเดียวกัน


ได้ข้อมูลมาครั้งแรกเลยบอกว่าต้นนี้ชื่อ "สิงโตขาเขียด" ดูไปก็คล้ายๆ เนอะ ขายาวเรียวผอมๆ แต่ไปเจอข้อมูลบางที่เขาเรียกว่า "สิงโตดาว" ดูไปก็คล้ายอีกนั่นแหละ ในหนังสือมีแต่ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า "Bulbophyllum laxiflorum (Blume) Lindl." ต้นนี้ใจดีและน่ารักออกดอกอยู่เสมอ ต้นเล็กๆ ดอกเล็กๆ


ต้นนี้ข้อมูลคงไม่พลาด "ข้าวตอกปราจีณ" ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า "Dendrobium oligophyllum Gagnep." แต่สงสัยว่าชื่อเนี่ยจะ "น" หรือ "ณ" หนอ เพราะก่อนหน้านั้นตัวเองสะกดชื่อว่า "ข้าวตอกปราจีน" คงนึกถึงแต่ปราจีนบุรี คงต้องหาคำตอบต่อไป ชื่อข้าวตอกก็สมกับเป็นข้าวตอกจริงๆ ต้นเล็กๆ ออกดอกเยอะยังกะยุงชุม


ต้นนี้ตอนมาถามคนขาย เขาบอกว่าชื่อ "ข้าวตอกมาเล" ดอกดูคล้ายข้าวตอกปราจีน แต่ต้นใหญ่กว่า ในหนังสือไม่มีชื่อไทย แต่ดูแล้วคล้ายที่สุด และเดาเอาว่าจากชื่อที่คนขาย (ที่เราพอจะเชื่อได้) บอก ถิ่นของขาก็น่าจะมาจากทางใต้ ในหนังสือดอกที่คล้ายต้นนี้ก็บอกว่ามีถิ่นที่พบอยู่ทางใต้ คงใช่แหละมัง หากใช่ชนิดเดียวกันชื่อวิทยาศาสตร์ก็คือ "Dendrobium trinervium Ridl."


ต้นนี้ปลูกเองคงเป็นสิงโตสักตัว แต่ไม่รู้ตัวไหน ดูเหมือนสิงโตรวงข้าว เทียบในหนังสือจนตาลายเพราะที่คล้ายกันก็มี มีตัวหนึ่งที่ใกล้เคียง ถ้าใช่ตัวเดียวกันก็มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า "Bulbophyllum crassipes Hk. f." ส่วนชื่อไทยยังจนใจ


ดอกนี้เล็กๆ น่ารัก เก็บภาพมาจากตอนไปเดินป่าที่เขาใหญ่ กล้วยไม้ดอกเล็กๆ แนวนี้มีเยอะมาก แยกความต่างลำบาก ในหนังสือที่ใกล้เคียงสุดเห็นจะเป็นชื่อ "Malleola dentifera J.J. Sm."


ต้นนี้ยังไม่รู้ชื่อไทย ในหนังสือรุปลักษณ์ที่ตรงที่สุดก็มีแต่ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า "Eria concolor Par. & Rchb. f." ชอบสีของเขามาก เห็นดอกเล็กๆ แบบนี้บานอยู่หลายวันเหมือนกัน
ยังเหลือในกรุอยู่อีกบ้างที่ต้องหาข้อมูล แต่พักยกไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน

14 ต.ค. 2548

ดอกไม้ใน ๑๒ นักษัตร...ของฝากจากเพื่อน

ค้างคาไว้อยู่นาน นับแต่ยังไม่มีบันทึกไว้เก็บความทรงจำ เปิดเจอรูปชุดนี้เข้าเลยนึกได้ว่ายังมีความรู้สึกดีๆ อยู่หนึ่งเรื่องที่ยังไม่ได้บันทึกไว้เป็นความทรงจำ นั่นคือชุดของฝากที่ได้รับจากเพื่อนรุ่นน้องในที่ทำงานคนหนึ่ง เป็นชุดกระดาษฉลุลาย ๑๒ นักษัตร สอดแทรกด้วยลายดอกไม้ เป็นงานฝีมือที่ผู้ผลิตต้องบรรจงทำด้วยมือ
นอกจากเป็นของฝากที่ประทับใจจากเมืองจีนแล้ว สิ่งที่ได้รับเป็นความรู้สึกดีดีมากกว่านั้น จำได้ว่าครั้งแรกที่รับของฝากจากมือน้อง เปิดดูแล้วอึ้ง เขาเนี่ยนะให้ของฝากแบบนี้ได้ ก็จะไม่ให้คิดอย่างนี้ได้ไงล่ะ ตอนก่อนที่เขาจะได้ทุนไปเรียนที่เมืองจีน เราก็รู้จักกันพอประมาณ เรียกว่าเห็นไส้เห็นพุง เห็นแก่นแท้ลึกลงไปก้นบึ้งถึงใจ เคยชมเขาอยู่บ่อยๆ ว่า เธอเนี่ยนะมีข้อดีอยู่อย่างเลยคือ "เลวเห็นๆ แบบไม่มีเงื่อนงำ" ก็ยังไงล่ะ เขาเป็นประเภทว่าอยากอะไร ชอบเรื่องหายนะของชาวบ้านยังไง เปิดเผยไม่มีเสแสร้งและสร้างภาพ จนบางทีเพื่อนๆ ก็เอือมระอาในความเหลือเกิน แต่แปลกนะก็เห็นทุกคนรักและคบหาเขาได้เป็นอย่างดี ถึงแม้บ่อยๆ ครั้งจะทนไม่ไหวจนต้องเรียกแบบมีสรรพนามนำหน้าว่า "ไอ้...เนี่ยมันจริงๆ เลย" เฮ้อ เขาก็เป็นเพื่อนคนหนึ่งที่ทำให้ฉันได้เห็นสัจธรรม หรือปรัชญาของชีวิตว่า ทุกคนไม่ได้ชอบสิ่งที่สวยงามเกินจริงเสมอไป จริงๆ แล้วทุกคนต้องการเพื่อนที่จริงใจ มิตรที่ไม่มีภาพลวง และอยู่บนโลกของความเป็นจริง เพื่อนจะเป็นยังไงก็เรื่องของเพื่อนขอเพียงอย่างเดียวคือเป็นตัวของตัวเองและจริงใจ อ้ออีกเรือง เรื่องของน้ำใจด้วย ฉันว่าทุกคนต้องมี อย่างเพื่อนรุ่นน้องฉันคนนี้ก็มีนะ ถึงแม้ว่าจะอยู่ลึกจนต้องขุดค้นหาก็ตามเถอะ
วกกลับมาเรื่องของฝากของฉันต่อ ฉันได้รับของฝากชุดนี้เมื่อคราวเขากลับมาจากเมืองจีนมาเยือนบ้านครั้งแรก ถึงแม้จะให้มาแบบกระแทกกระทั้นตามแบบเขาที่หวานไม่เป็น แถมพูดอย่างเสียไม่ได้ว่า "อะ เอาไป หายากจะตายนะเนี่ยกว่าจะได้มา" อยากบอกจริงๆ ว่าตอนที่ฉันเปิดดู ตื้นตันจนน้ำตาจะเล็ด เป็นบุญของฉันจริงๆ เนี่ย ที่ได้ของฝากแบบนี้จากเขา ไม่น่าเชื่อ คนอย่างนี้ก็มีอารมณ์สุนทรีย์กะเขาด้วยนะเนี่ย และถ้าไม่คิดเข้าข้างตัวเองมากเกินไปก็อยากจะคิดว่าปราณีตขนาดหาอะไรที่เป็นดอกไม้สอดแทรกมาให้ด้วย ตั้งใจจริงๆ เลย โหมีน้ำใจขนาดเนี้ยเลยเหรอเนี่ย ซึ้งใจจริงๆ หนนี้ก็เลยได้เสียเงินลงทุนควักกระเป๋าเลี้ยงอาหารจีนไปเสียหนึ่งมื้อ เรียกว่าแทนคำขอบคุณ เฮ้อ...มันก็ยอมให้เลี้ยงแบบไม่เกรงใจกระเป๋าเราเลยนะเนี่ย


ชวด



ฉลู



ขาล



เถาะ



มะโรง



มะเส็ง



มะเมีย



มะแม



วอก



ระกา



จอ



กุน